ฟันฝัง คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นในช่องปากได้ตามปกติ ซึ่งฟันซี่นั้นอาจจะเป็น 1 ใน 32 ซี่ของฟันแท้ที่ควรจะขึ้นในช่องปากอยู่แล้ว
ฟันฝัง คือ.. ??
ฟันฝัง คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นในช่องปากได้ตามปกติ ซึ่งฟันซี่นั้นอาจจะเป็น 1 ใน 32 ซี่ของฟันแท้ที่ควรจะขึ้นในช่องปากอยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นฟันที่เกินจาก 32 ซี่นี้ที่ถูกฝังอยู่ในบริเวณกระดูกขากรรไกร โดยส่วนมากมักจะเป็นฟันกรามน้อยหรือฟันเขี้ยว
ทำไมต้องผ่าฟันฝัง
ฟันทุกซี่ก่อนที่จะขึ้นในช่องปากนั้นมักจะมีถุงหุ้มฟันอยู่ หากฟันสามารถขึ้นได้ตามปกติ ถุงหุ้มฟันก็จะแตกออกและสลายไปเอง แต่ฟันคุดและฟันฝังที่ไม่สามารถขึ้นในช่องปากได้ตามปกติ ถุงหุ้มฟันนั้นจะยังอยู่และมีโอกาสขยายตัวไปเป็นถุงน้ำ ซีสต์ หรือเนื้องอก จนสามารถทำลายฟันซี่ข้างเคียงและกระดูกขากรรไกรบริเวณรอบๆได้ ความอันตรายของถุงหุ้มฟันนี้ ยังมีโอกาสโตไปเป็นมะเร็งได้ ถึงแม้โอกาสในการเกิดจะน้อยมากก็ตาม
การรักษา
- คุณหมอจะทำการประเมินฟันฝังผ่านการเอกซเรย์
- เริ่มฉีดยาชาเฉพาะจุดบริเวณเหงือกที่ต้องผ่าเปิดแผล โดยสามารถออกฤทธิ์ได้ 2-4 ชั่วโมง และหากมีอาการเจ็บปวดระหว่างทำ คนไข้สามารถให้คุณหมอเติมยาได้ตลอดเพื่อลดอาการปวดข้างต้น และในบางสถานพยาบาลก็มีการดมยาสลบให้หากคนไข้เป็นกังวล
- คุณหมอผ่าเปิดเหงือกและนำฟันฝังออกจากใต้เหงือก
- คนไข้บางรายอาจมีการกรอตกแต่งกระดูกหลังผ่าฟันฝัง
- คุณหมอล้างแผลด้วยน้ำเกลือและทำการเย็บปิดแผล
การฟื้นตัว
อาการบวมหลังผ่าฟันฝังขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายคนไข้แต่ละท่าน ซึ่งจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3 วัน โดยงดการบ้วนน้ำลายหรือบ้วนปาก ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมและการอักเสบในช่วง 2 วันแรกหลังผ่าตัด และเปลี่ยนเป็นประคบอุ่นเพื่อลดการคั่งเลือด ซึ่งคนไข้จะสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติหลังจาก 1 สัปดาห์ไปแล้ว
คำแนะนำ
แนะนำให้ทำการเอกซเรย์ช่องปากและฟันทุก 1-2 ปี เพื่อตรวจดูฟันฝัง เนื่องจากถุงหุ้มฟันของซี่ที่ยังไม่โผล่ขึ้นมานั้นขยายตัวช้ามาก เราจะรู้สึกตัวได้อีกทีเมื่อฟันซี่ข้างๆนั้นโดนเบียดจนเปลี่ยนตำแหน่ง โยก หรือทำให้หน้าบวม เพราะฉะนั้นควรทำการผ่าฟันฝังตั้งแต่ยังไม่เกิดปัญหาอะไร ซึ่งจะอยู่ในขั้นตอนของการผ่าตัดเล็ก (Minor Surgery)
- กรณีที่ฟันฝังไม่ได้อยู่ลึกมาก หรืออยู่ในบริเวณที่ไม่ได้เป็นอันตราย และพบตั้งแต่อายุยังน้อย แนะนำให้เอาออก เพราะคุณหมอสามารถทำการผ่าตัดได้ง่าย เนื่องจากรากฟันไม่ได้ยาวมาก กระดูกไม่ได้แข็งมาก และสามารถฟื้นตัวได้ไว
- กรณีที่ฟันฝังอยู่ลึกมาก และพบตอนอายุเยอะแล้ว คุณหมอจะยิ่งทำการผ่าตัดได้ยาก เพราะอาจต้องกรอกระดูก หรือกระทบเส้นประสาทได้ ทำให้มีโอกาสฟื้นตัวช้า แต่ถ้าได้รับการพิจารณาว่าไม่สามารถผ่าตัดได้ ก็สามารถเก็บไว้ตามเดิมแต่ควรมาเอกซเรย์ช่องปากและฟันตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อติดตามการขยายของถุงหุ้มฟันต่อไป
- กรณีที่จัดฟัน แล้วคุณหมอพบฟันฝังก็จะแนะนำให้เอาออก เพราะจะไม่สามารถทำการเคลื่อนฟันที่จัดได้เนื่องจากชนฟันฝังที่อยู่บริเวณขากรรไกร
สิ่งที่ต้องระวัง
- เส้นประสาท – ที่อยู่ในส่วนของฟันล่างและขากรรไกรล่าง ถ้าอยู่ในบริเวณที่ลึกหรือเข้าถึงยาก อาจกระทบเส้นประสาทระหว่างผ่าตัดได้
- โพรงอากาศหรือไซนัส – ที่อยู่ข้างๆจมูกหรือโพรงจมูกซึ่งเป็นส่วนของฟันบน ถ้าอยู่ในบริเวณที่ลึกหรือเข้าถึงยาก อาจจะทะลุโพรงอากาศหรือไซนัสระหว่างผ่าตัดได้ ซึ่งจะเป็นซี่ที่เป็นฟันเขี้ยวกับฟันกรามน้อย
- หากเกิดอุบัติเหตุในบริเวณที่มีฟันคุดหรือฟันฝังอยู่ อาจทำให้เกิดการแตกหักที่บริเวณนี้ได้ เพราะเหมือนมีจุดรับแรงกระแทกที่ทำให้ขากรรไกรแตก
ดังนั้น คนไข้ต้องพิจารณาร่วมกับคุณหมอว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
เคสตัวอย่าง: ฟันฝัง
คนไข้ชายอายุ 60-70 ปี ถูกส่งตัวมาจากต่างจังหวัด ด้วยสาเหตุฟันโยกและพบเงาดำที่อยู่ด้านล่างของรากฟันซี่ที่โยกจากฟิลม์ขนาดเล็ก คนไข้บอกว่า ก่อนหน้านี้ก็ทำการถอนฟันกรามไปหลายซี่แล้ว เนื่องจากมีอาการโยกเช่นเดียวกัน แต่ไม่เคยได้รับการเอกซเรย์ เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ให้บริการในสมัยนั้น คุณหมอจึงทำการเอกซเรย์ใหม่และพบถุงน้ำขึ้นในแนวนอน ไม่มีอาการบวม แต่ขยายจนเบียดขากรรไกร
คุณหมอสันนิษฐานได้ว่าฟันกรามซี่ที่โยกนั้น อาจเกิดจากฟันฝังที่นอนอยู่ใต้รากฟันที่ขึ้นตามปกติ จึงทำการรักษาด้วยการถอนฟันและเจาะถุงน้ำออก ทำให้ขากรรไกรของคนไข้เป็นโพรงว่างขนาดใหญ่ และเป็นอันตรายในอนาคตได้หากได้รับการกระเทือนหรืออุบัติเหตุในบริเวณนั้น เนื่องจากไม่มีกระดูกรองรับบริเวณขากรรไกรนั้น
ทพญ. ชุติกาญจน์ จึงประสิทธิ์พร
ทันตแพทย์ศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล